Tuesday, June 4, 2013

เอกสารประกอบการเยี่ยมชม แม่บัวหลวงไฮโดรโพนิกส์


โดย ดร.ยงยุทธ  เจียมไชยศรี
 
 
ในการเยี่ยมชมฟาร์มคุณอรรถพร  สุบุญสันต์   อาจพาชมอุปกรณ์และการปฏิบัติงานบางอย่าง  เพื่อให้
ทราบถึงเหตุผลในการใช้อุปกรณ์และการปฏิบัติงานเหล่านั้นจึงขอนำ เสนอเหตุผลและหลักการโดยสังเขปไว้ล่วงหน้า
เมื่อได้ชมแล้วหากมีข้อสงสัย ผู้เขียนยินดีที่จะตอบข้อซักถามเพิ่มเติมให้อีก
การปรับ pH ให้เหมาะสมสามารถลดโรครากเน่าได้
pH ของสารละลายเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการเกิดโรครากเน่า  รากพืชไวต่อความเป็นกรดของ
สารละลายธาตุอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ อุณหภูมิของสารละลายค่อนข้างสูงซึ่งรากจะอ่อนแอกว่าที่อุณหภูต่ำ
เมื่อเริ่มมีการปลูกเลี้ยงผักสลัดในประเทศไทยด้วยระบบไฮโดรโพนิกส์  เราตั้งเป้าในการปรับ pH ของสารละลายธาตุอาหาร
ตามตำราฝรั่งที่ 5.3 - 5.5  การปรับ pH   เช่นนี้ได้ผลดีในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น  ในฤดูร้อนและฤดูฝนซึ่งอากาศมีอุณหภูมิสูง
มักจะเกิดโรครากเน่า  การปรับ pH ให้เหมาะสมกับอุณหภูมิในแต่ละฤดูกาล จะช่วยลดโรครากเน่าได้  จากการทดลองของ
คุณอรรถพร  สุบุญสันต์  pH ที่เหมาะสมในแต่ละฤดูกาลมีดังนี้
ฤดูหนาว   ควรปรับไปที่ pH 5.5  ซึ่งเป็น pH ที่พืชผักเติบโตดี เนื่องจากอุณหภูมิต่ำ โอกาสเกิดโรคมีน้อย
ฤดูฝน   ควรปรับไปที่ pH 6.0  เพื่อลดการเกิดโรครากเน่า พืชผักโตได้ดีพอควรที่ pH นี้
ฤดูร้อน   ควรปรับไปที่ pH 6.5  เพื่อลดการเกิดโรครากเน่าซึ่งมักจะพบเสมอเมื่อสารละลายธาตุอาหารมี
   อุณหภูมิสูง  เราต้องหาทางลดอุณหภูมิสารละลายธาตุอาหารร่วมด้วย
การปรับ pH ในช่วง 6.0 - 6.5   ในกรณีที่ใส่ ไตโครเดอร์มา ลงไปในสารละลายธาตุอาหาร     จะเห็นผลของ
การเจริญเติบโตของพืชผักในระดับที่ดี  ถึงดีมาก    การปรับ pH ค่อนไปทางสูง  ควรพิจารณาใช้เหล็กคีเลทที่ทน  pH
ในช่วงนั้นได้
ในกรณีที่ใช้สารละลายธาตุอาหารที่มีเกลือแอมโมเนียมอยู่ด้วยไม่ควรปรับ pH ให้ต่ำกว่า 6  ถ้าจะให้ปลอดภัย
ยิ่งขึ้นควรปรับไปที่ pH 6.5  เพราะเมื่อผักดูดซึมแอมโมเนี่ยมผักจะปล่อยกรดออกมาที่ผิวราก
การปรับ pH ให้ถูกต้องและเหมาะสม เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จ ในการปลูกเลี้ยงมากเกินคาด
ควรอ่านเพิ่มเติมที่ www.phutalay.com -  แม่บัวหลวงไฮโดรโพนิกส์  ซึ่งจะให้ความรู้ในเรื่องนี้และความรู้ทั่วไปที่สำคัญ
อย่างอื่นอีกด้วย
การปรับ EC ของสารละลายให้เหมาะสมกับช่วงอายุผัก
การปรับ EC ของสารละลายธาตุอาหารให้เหมาะสมกับช่วงอายุผักในกลุ่มของเรา เป็นการปรับแบบ EC สูงไปหาต่ำ
ซึ่งตรงข้ามกับวิธีการในตำราฝรั่งที่เป็นแบบ EC ต่ำไปหาสูง   การปรับตามตำราฝรั่ง  อาศัยแนวความคิดที่ว่าผักต้นเล็กอ่อนแอ
ควรได้แสงอ่อน  ปุ๋ยอ่อน  ไล่ไปตั้งแต่น้ำเปล่าแล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ    ตามความเป็นจริงแล้วต้นอ่อนของผักแข็งแรง
และทนแดดได้ดีกว่าผักต้นโต     การให้ปุ๋ยตั้งแต่เริ่มงอก  ที่   EC สูง     และให้แดดจัดจะได้ต้นกล้าที่เติบโตดีและแข็งแรง  
พร้อมที่จะเติบโตต่อทันที เมื่อย้ายไปลงรางปลูก   ช่วงแรกของการปลูกเลี้ยงในรางปลูกเมื่อผักยังเล็ก  ควรใช้ EC สูงเพื่อให้
ผักโตเร็ว    และควรลด  EC  ลงตามลำดับจนถึง   EC  ต่ำสุด       ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเก็บเกี่ยว EC ต่ำทำให้ผัก
มีรสชาดดีและไม่ขม
ค่า  EC  โดยประมาณของสารละลายธาตุอาหารสำหรับผักสลัดควรเป็นดังนี้
EC  ของโต๊ะเพาะ   เริ่มเพาะ  -   สัปดาห์ที่ 2 ครึ่ง1.7  -  1.8
EC  ของโต๊ะปลูก สัปดาห์ที่ 2 ครึ่ง -  41.6
สัปดาห์ที่ 4  -  51.4
สัปดาห์ที่ 5  -  เก็บเกี่ยว1.2  -  1.0
ในช่วงที่ใช้สารละลายธาตุอาหารที่มีค่า EC เท่ากับ 1.2 - 1.0  ควรเติมธาตุอาหารรองเพิ่มเติม
การเติมธาตุอาหารรองเพิ่มลงไปในถังสารละลายธาตุอาหาร
ในหลายกรณีผักจะไม่สดใสเท่าที่ควรและแสดงอาการขาดธาตุอาหารรอง  เช่นความเขียวลดลง และยอดยืด
ในบางสายพันธุ์  เราควรเติมธาตุอาหารรองเพิ่มเติม   เราอาจเตรียมสารละลายธาตุอาหารรองไว้เติมแต่ง   ได้จากการนำเอา
นิคสเปรย์พร้อมสารเติมแต่งและเหล็กคีเลท  ในปริมาณที่ใช้ในสูตรอาหาร  มาละลายในน้ำที่มีปริมาณตามที่ต้องการ 
เช่น  1 ลิตร  หรือ 2.5 ลิตร   การเพิ่มเติมธาตุอาหารรองก่อนที่พืชจะแสดงอาการขาดจะช่วยให้พืชผักสดใสและเติบโตต่อเนื่อง
โดยไม่มีการชะงักงัน  ควรทราบไว้ว่าธาตุอาหารรองมีผลต่อความสดใสและการเจริญเติบโตของผักเป็นอย่างมาก
ตัวอย่างของกรณีที่ควรเติมธาตุอาหารรองลงไปในสารละลายธาตุอาหาร
1.  เมื่อใบผักเปียกต่อเนื่องเป็นช่วงเวลานาน  เช่นเมื่อฝนตกเกือบต่อเนื่องกันหลายวัน  ซึ่งจะทำให้ฝักไม่สามารถ
ดูดซึมสารละลายธาตุอาหารเพราะใบคายน้ำไม่ได้  ผักอาจขาดธาตุอาหารรอง
2. เมื่อใช้สารละลายธาตุอาหารที่มี EC ต่ำ  ในกรณีเช่นนี้สารละลายธาตุอาหารจะมีความเข้มข้นธาตุอาหารรองต่ำ
ตามไปด้วย  จึงควรได้รับการเสริมธาตุอาหารรอง
3. ในกรณีที่สารละลายธาตุอาหารมีอุณหภูมิสูงถึง 30 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่านั้นการทำงานของรากจะด้อยลง
ซึ่งจะทำให้ดูดซึมธาตุอาหารได้น้อยลง  การเสริมธาตุอาหารรองจะทำให้พืชผักได้รับธาตุอาหารรองเพียงพอ
การผลิตเชื้อไตรโครเดอร์มาชนิดสด
เชื้อราปฎิปักษ์ที่นำมาใช้ในการควรคุมโรครากเน่าของผักกาดหอมคือเชื้อราไตรโครเดอร์มา  ฮาเซียนัม
(Trichoderma Harzianum)  สายพันธุ์ CB-Pin-01  ของภาควิชาโรคพืช คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วิทยาเขตกำแพงแสน  จังหวัดนครปฐม  ซึ่งมี  ดร.จิระเดช  แจ่มสว่าง เป็นผู้ทำการวิจัย  เชื้อรานี้มีประสิทธิภาพสูงในการ
ควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคพืชชนิดต่างๆ  อย่างกว้างขวาง  เช่น  เชื้อราพิเธียม (Pythium app.)  ที่เป็นเชื้อราสาเหตุของโรค
รากเน่าของผักสลัดต่างๆ  ที่ปลูกเลี้ยงในระบบไฮโดรโพนิกส์
การผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา  ชนิดสด  ทำได้ง่ายโดยการเลี้ยงเชื้อราไตรโครเดอร์มา จากหัวเชื้อให้เจริญบนวัสดุ
อาหารเช่น เมล็ดข้าวสาร ปลายข้าว ข้าวกล้อง ข้าวโพดบดแตก  หรือข้าวเหนียวที่ผ่านการหุงหรือนึ่งให้สุกอย่างไม่เต็มที่
และค่อนข้างแห้ง  เมื่อเชื้อราสร้างสปอร์เป็นสีเขียวเข้มแล้ว เราจะนำ "เชื้อสด"  นั้นมาล้างออกจากเมล็ดข้าวให้ลงไปอยู่ในน้ำ
หรือสารละลายธาตุอาหาร  แล้วนำสารแขวนลอยของสปอร์ไปเติมลงไปในสารละลายธาตุอาหารปลูกเลี้ยง
หัวเชื้อราไตโคเดอร์มาพร้อมคำแนะนำในการเลี้ยงเชื้อ  เพื่อผลิตเชื้อสดโดยละเอียด มีจำหน่ายในกรุงเทพฯ
ที่ร้านพรรณไม้  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  วิทยาเขยบางเขน เขตจตุจักร
การเตรียมเชื้อสดในรูปเชื้อน้ำที่เป่าอากาศแล้ว
เมื่อเรานำสารแขวนลอยของสปอร์มาเป่าลมให้สปอร์งอก เชื้อจะเจริญและสร้างสารออกฤทธิ์ของเชื้อไตรโครเดอร์มา
เพิ่มขึ้นจนเหมาะสำหรับใช้พ่นใบเพื่อต่อต้านโรคใบจุดและโรคต่างๆของส่วนบนของผัก      เราอาจใส่เชื้อน้ำที่เป่าอากาศแล้ว
ลงไปในสารละลายธาตุอาหารได้ด้วย (ไม่ต้องใช้สารจับใบ)  วิธีการทำและใช้เชื้อน้ำที่เป่าอากาศแล้วมีดังนี้
1. นำเชื้อสด   (เมล็ดข้าวที่มีสปอร์ของไตโครเดอร์มา  100  กรัม   มาล้างหรือสารละลายธาตุอาหาร  1  ลิตร  
กรองเมล็ดข้าวออก แล้วนำเชื้อน้ำเข้มข้นไปเทลงไปในสารละลายธาตุอาหาร 20 ลิตร  เติมธาตุอาหารเสริม (นิคสเปร์ย)
หนึ่งช้อนชา เพื่อเพิ่มการงอก
2. เป่าอากาศด้วยปั้มลมของตู้ปลาลงไปในเชื้อน้ำเข้มข้น เป็นเวลา 12-24 ชั่วโมง เพื่อให้เชื้องอกและเจริญ
3. ใส่สารจับใบหรือน้ำยาล้างจานลงไป  1-5 มิลลิลิตร  (ถ้าต้องการ)
4. พ่นต้นผักด้วยเชื้อน้ำนี้ทุก 5-7 วัน และควรพ่นก่อนที่จะพบโรคระบาดเพื่อป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อโรค
ในกรณีที่มีโรคระบาดรุนแรงอาจพ่นทุก  3-5  วัน
5. ควรใช้เครื่องพ่นชนิดละออง  ละเอียดมาก
6. การพ่นเชื้อน้ำลงบนระบบรางปลูก  พื้นทางเดินและใต้โต๊ะปลูกจะช่วยลดปริมาณเชื้อโรคได้
เชื้อน้ำที่เป่าอากาศแล้วนั้นนอกจากควบคุมโรคแล้วยังเร่งการเจริญเติบโตของผักอีกด้วย
การใช้ไตรโครเดอร์มาในการเพาะเมล็ด
การใช้เชื้อสดของไตรโครเดอร์มาในการเพาะเมล็ดจะทำให้มั่นใจได้ว่าเราจะได้ต้นกล้าที่รากไม่เสีย    แข็งแรง
และไม่มีต้นกล้าตายจากโรครากเน่า   ต้นกล้าที่ได้จะเติบโตดีมากอย่างสม่ำเสมอกันอีกด้วย  การใช้เชื้อสดในการเพาะเมล็ด
อาจทำได้ดังนี้
1. เตรียมถ้วยเพาะที่บรรจุวัสดุเพาะกล้าที่เป็นเวอร์มิคิวไลท์ ผสมเพอร์ไลท์
2. เตรียมเชื้อน้ำโดยใช้เชื้อสด 100 กรัมกับน้ำหรือสารละลายธาตุอาหาร 20 ลิตร
3. พ่นหรือรดเชื้อน้ำลงไปบนวัสดุเพาะกล้าให้ชุ่ม
4. หยอดเมล็ดผักลงในถ้วยและกลบบางๆ
5. เก็บถ้วยนั้นไว้ในที่ที่ไม่ร้อน  และไม่ถูกแสงแดด 24-36 ชั่วโมง  ในสภาพที่ทำให้วัสดุปลูกชื้น  เช่นพ่นหรือรดน้ำ
เป็นระยะหรือวางในถาดที่มีสารละลายธาตุอาหารผสมไตรโครเดอร์มาประมาณ 1 เซ็นติเมตร
6. นำถ้วยเพาะไปวางบนรางอนุบาลโดยใช้สารละลายธาตุอาหารผสมเชื้อราไตโครเดอร์มาชนิดสด 
(เชื้อสด 100 กรัมต่อสารละลายธาตุอาหาร 200 ลิตร)  ไหลเวียนใต้ถ้วย
การใช้ยาฉุนในการปราบแมลง
ในใบยาสูบมีนิโคตีนที่สามารถฆ่าแมลงได้  ยาฉุนเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบที่มีปริมาณนิโคตีนสูง  เราจึงควรนำยาฉุน
มาใช้ในการปราบแมลง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลี้ยไฟที่เป็นศรัตรูสำคัญอย่างหนึ่งของผักสลัด    โดยทั่วไปเราจะนำยาฉุนมาใช้
ในน้ำผสมน้ำยาล้างจานเล็กน้อยและขยำให้เปียกทั่ว   แช่ไว้ประมาณ 1 ชั่วโมงโดยที่ขยำเป็นครั้งคราว  ถ้าไม่รีบร้อนอาจแช่ไว้
นานกว่านั้น   นำมาบีบเอากากออกและกรองกากที่เหลือออกให้หมดแล้วนำไปพ่นฆ่าแมลง
การเติมน้ำยาล้างจานมีความสำคัญอยู่ 2 ประการ  ประการแรก น้ำยาล้างจานทำให้น้ำยาฉุนเปียกแมลงและเปียก
ใบผักได้ดี ประการที่สองน้ำยาล้างจานมีฤทธิ์เป็นด่าง จึงทำให้นิโคตีนอยู่ในรูปสารอิสระอย่างสมบูรณ์  ถ้าไม่เติมน้ำยาล้างจาน
นิโคตีนบางส่วนอาจอยู่ในรูปเกลือของนิโคตีน  ซึ่งออกฤทธิ์ได้น้อยกว่านิโคตีนอิสระ  ดังนั้นน้ำยาล้างจานจึงสามารถเพิ่ม
ประสิทธิภาพในการปราบแมลงของน้ำยาฉุนได้เป็นอย่างมาก
การพ่นน้ำลดเพลี้ยไฟ
เพลี้ยไฟเป็นแมลงขนาดเล็กที่ออกหากินบนผักในเวลากลางคืน   การพ่นน้ำเป็นช่วงๆ ในเวลากลางคืนจะรบกวน
การหากินของเพลี้ยไฟ  และเพลี้ยไฟบางตัวก็จมน้ำตาย  ดังนั้นการพ่นน้ำในเวลากลางคืนจึงสามารถลดการทำลายของ
เพลี้ยไฟ  และลดปริมาณของเพลี้ยไฟลงได้มากถ้าทำซ้ำๆ  กันหลายคืนในขณะที่เพลี้ยไฟระบาด
การปล่อยน้ำให้ท่วมพื้นดินใต้รางปลูกเพื่อลดเพลี้ยไฟ
เพลี้ยไฟมีวงจรชีวิตที่ต้องเข้าดักแด้ในดินก่อนเป็ตัวเต็มร้อย  ดังนั้นเมื่อเพลี้ยไฟระบาดเราควรทำให้พื้นดินใต้
รางปลูกแฉะอยู่เสมอ  เพื่อตัดวงจรชีวิตของเพลี้ยไฟโดยการทำให้ดักแด้ของเพลี้ยไฟจมน้ำตาย
การใช้พัดลมลดโรคใบจุดและเร่งการเจริญเติบโต
ในฤดูฝนที่มีทั้งละอองฝนและอากาศที่มีความชื้นสูง  ใบผักมักจะเปียกชื้นเป็นเวลานาน  ในสภาพเช่นนี้เมื่อสปอร์
ของเชื้อราของโรคใบจุดปลิวไปตกลงบนใบผัก  สปอร์จะงอกได้และทำให้เกิดโรคใบจุด   ถ้าเราเปิดพัดลมให้อากาศในโรงเรือน
เคลื่นอนไหว  ใบผักจะแห้งเร็วขึ้น  โอกาสที่สปอร์ของเชื้อราที่ปลิวมาตกลงงอกได้ก็จะลดลง   ดังนั้นเราจึงสังเกตุเห็นว่า
เมื่อเปิดพัดลมในโรงเรือนแล้วการทำลายของโรคใบจุดจะลดลง
การเปิดพัดลมทำให้ใบแห้งและทำให้น้ำระเหยออกจากใบมากขึ้น เมื่อน้ำระเหยออกไป  รากจะดูดสารละลาย
ธาตุอาหารขึ้นมาแทนที่  การระบายน้ำออกจากใบเพิ่มขึ้นเช่นนี้จะทำให้พืชได้รับธาตุอาหารเพิ่มขึ้น  นอกจากนี้เราได้พบว่า
ในกรณีที่อากาศนิ่งสนิท  การแลกเปลี่ยนก๊าซระหว่างใบพืชกับอากาศที่อยู่ใกล้ชิดกับใบก็เป็นไปได้ไม่ดี  เพราะอากาศ
ที่อยู่ใกล้ชิดนั้นเป็นอากาศที่แลกเปลี่ยนแก๊สกับใบพืชแล้ว  การเคลื่อนไหวของอากาศจะทำให้อากาศที่อยู่ใกล้ชิดกับใบนั้น
เคลื่อนที่ไปและอากาศส่วนใหม่ๆ จะเคลื่อนเข้ามาตลอดเวลา  ดังนั้นการเปิดพัดลมจึงทำให้พืชได้รับธาตุอาหารเพิ่มขึ้น
และมีการแลกเปลี่ยนก๊าซกับอากาศดีขึ้นจนทำให้พืชเติบโตดีขึ้น
การเติมธาตุอาหารเพื่อให้ต้นคะน้าอ้วน
คะน้าเป็นพืชที่จะมีลำต้นอ้วนเมื่อใกล้ออกดอก  พืชจะถึงระยะใกล้ออกดอกได้เร็วขึ้น เมื่อได้รับฟอสเฟตเพิ่มขึ้น
คะน้าเป็นเพืชผักสำหรับกินใบ จึงต้องการไนโตรเจนมากในช่วงการเจริญเติบโต  คะน้าเป็นผักในกลุ่มที่ชอบปุ๋ยไนโตรเจน
ที่มีทั้งไนเตรทและแอมโมเนียม  ปุ๋ยไฮโดรโพนิกส์ของเราไม่มีแอมโมเนียมเลย  หรือมีอยู่เพียงเล็กน้อย  ในการปลูกคะน้า
เราจึงเติมปุ๋ยที่มีแอมโมเนียมและมีฟอสเฟตลงไป  นั่นคือเราจึงเติมโมโนแอมโมเนียมฟอสเฟต (MAP) เพิ่มเข้าไปทีละน้อย
เราไม่เติมครั้งละมากๆ เพราะถ้ามีความเข้มข้นของแอมโมเนียมสูงเกินไป คะน้าจะดูดแอมโมเนียมได้เร็วกว่าการใช้ประโยชน์
จากแอมโมเนียม และจะแสดงอาการใบเหี่ยว  เราจะหยุดเติมถ้าคะน้าบางต้นมีใบเหี่ยว  เมื่อแอมโมเนี่ยมในสารละลาย
ธาตุอาหารเจือจางลงจึงเติมใหม่อีก  เราสามารถประมาณความเข้มข้นของแอมโมเนียมในสารละลายธาตุอาหารได้จาก
การเปลี่ยนแปลง pH ของสารละลายธาตุอาหารในแต่ละวัน  เพราะเราทราบว่าเมื่อพืชดูดซึม ไนเตรทจะปล่อยด่างออกมา
แทนที่ และเมื่อพืชดูดซึมแอมโมเนียมจะปล่อยกรดออกมาแทนที่  และพืชดูดซึมแอมโมเนียมได้เร็ว  
ดังนั้นถ้า pH ของสารละลายธาตุอาหารลดลงอย่างรวดเร็วก็หมายความว่าแอมโมเนียมมาก  ถ้า pH ของ
สารละลายธาตุอาหารลดลงอย่างช้าๆ ก็หมายความว่ามีแอมโมเนียมปานกลาง และถ้า pH ของสารละลายธาตุอาหาร
เพิ่มขึ้นก็หมายความว่า พืชกำลังดูดซึมปุ๋ยในโตรเจนที่เป็นไนเตรทเป็นหลักและแอมโมเนียมคงเกือบหมดหรือหมดแล้ว
ในการปลูกผักด้วยสารละลายธาตุอาหารที่เติมโมโนแอมโมเนียมฟอสเฟต มีข้อควรระวังอยู่บ้าง  เราต้องทราบว่า
โมโนแอมโมเนียมฟอสเฟต (MAP) มีฤทธิ์เป็นกรด  การตรวจวัด pH จึงต้องทำหลังจากเติม MAP ลงไปแล้ว  และเราต้อง
คิดอยู่เสมอว่าเมื่อ พืชดูดแอมโมเนียมพืชจะปล่อยกรดออกมาแลกเปลี่ยน  ดังนั้นสารละลายธาตุอาหารจึงมีแนวโน้มที่จะ
เปลี่ยนแปลงไปในทางเป็นกรดเพิ่มขึ้น (pH ต่ำลง)  เราจึงต้องเตรียมสารละลายเจือจางมากๆ  ของโปแตเซี่ยมคาร์บอเนท
ไว้ใช้ปรับ pH ให้สูงขึ้น  สำหรับระดับ pH ที่เป็นเป้าหมายในการปรับในกรณีที่มีแอมโมเนียมในสารละลายควรอยู่ที่ 6.5
เพราะสารละลายมีแนวโน้มที่จะเป็นกรดเพิ่มขึ้น  และผิวรากก็จะเป็นกรดเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนกรดออกมาแลกเปลี่ยนกับ
แอมโมเนียม  เป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไปแล้วว่าถ้ามีแอมโมเนียมอยู่ในสารละลายธาตุอาหารเราจะไม่ปรับ pH ให้ต่ำกว่า 6
เพราถ้าต่ำกว่า 6 พืชอาจแสดงอาการผิดปกติ  ที่มักจะเรียกกันว่าความเป็นพิษของแอมโมเนียมที่มีต่อพืช
การปลูกวอเตอร์เครสด้วยระบบ NFT+DFT
วอเตอร์เครส (Watercress) ในที่นี้หมายถึง วอเตอร์เครสแท้ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nesturtium Officinale
ไม่ใช่ผักเป็ดที่บางคนนำมาจำหน่าย ในนามของวอเตอร์เครส  วอเตอร์เครสเป็นผักน้ำที่ออกรากตามข้อที่โคนใบ
โดยหลักการแล้วเราสามารถนำยอดมาปลูกในน้ำ หรือมาหว่านบนแผ่นฟองน้ำ ขนาดใหญ่ดังที่ทำกันอยู่ในต่างประเทศ
ในประเทศไทยการปลูกโดยวิธีดังกล่าวทำได้ยาก  วิธีที่ทำได้ง่ายกว่าคือ การใช้เมล็ดที่มีขนาดเล็กมากมาเพาะในถ้วยและ
ปลูกในระบบ NFT   การปลูกในระบบนี้ไม่เน่าง่าย  แต่โคนต้นมีขนาดเล็กมาก และรากที่ส่วนบนต้นก็ไม่มีน้ำหล่อ
เท่าที่ปลูกกันมาในภาคกลางก็ได้ผลดีพอควรแต่ไม่ดีมาก  วิธีที่ดีที่สุด คุณอรรถพร  สุบุญสันต์ ทำขึ้น คือการปลูกด้วยเมล็ด
ในราง NFT แล้วทำราง DFT (น้ำลึกกว่า NFT) ที่เป็นรางเปิดกระหนาบราง NFT ทั้งสองข้างเพื่อให้ส่วนต้นมีสารละลาย-
ธาตุอาหารหล่อเลี้ยงตามสภาพที่วอเตอร์เครสต้องการ  ผลที่ได้คือวอเตอร์เครสที่อวบอ้วนและงามมากโดยที่ไม่เน่าแม้ปลูก
ในอากาศร้อน
การใช้ Air Cooler กับสารละลายธาตุอาหาร
การรักษาอุณหภูมิของสารละลายธาตุอาหารให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ  สำหรับประเทศไทยที่อยู่
ในเขตร้อนมีปัญหาหลักอยู่ที่สารละลายธาตุอาหารร้อนเกินไป  สารละลายที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นจะมีออกซิเจนที่ละลายอยู่ใน
สารละลายลดลง  และรากพืชผักไม่ทนต่อความร้อนและการทำงานของรากจะด้อยลงเมื่ออุณหภูมิของสารละลายเพิ่มขึ้น
โดยที่มีจุดวิกฤตอยู่ที่ประมาณ 30 องศาเซลเซียส  ดังนั้นการทำให้สารละลายธาตุอาหารมีอุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส
ด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุด  วิธีที่ต้องการนี้บรรลุผลได้ด้วยเครื่อง Air Cooler ที่คุณอรรถพร สุบุญสันต์
ประดิษฐ์ขึ้น และได้รับรางวัลจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  เครื่องนี้ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าเครื่อง Chiller มาก เพราะ Air Cooler
ไม่มีคอมเพรสเซอร์ Cooler นี้ประกอบด้วยซุปเปอร์ซาร์ท สำหรับอัดอากาศเข้าไปในหม้ออากาศที่ทำด้วยหม้อน้ำรถยนต์
อากาศในหม้ออากาศนั้น  จะถูกทำให้เย็นด้วยลมและละอองน้ำที่เป่าเข้ามาพร้อมกัน  ลมจากหม้ออากาศที่เย็นลงแล้ว
จะผ่านท่อไปสู่หัวทรายเป็นฟอง ในปริมาณมากผ่านสารละลายธาตุอาหาร   สารละลายธาตุอาหารจะเย็นลง  ส่วนหนึ่ง
มาจากลมที่มีอุณหภูมิประมาณ 26 องศาเซลเซียส  และอีกส่วนหนึ่งจากการระเหยของน้ำในสารละลายธาตุอาหาร
สารละลายธาตุอาหารจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดวิกฤตเสมอ  ผักจะสดใสขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูร้อน
_________________________________________________

No comments: